กรดไหลย้อน

…. “กรดไหลย้อน” อันตรายจากทานอาหารไม่ตรงเวลา เรียนรู้ ปรับตัว แก้ไข ห่างไกลโรคได้! ….
. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคกรดไหลย้อน” ในปัจจุบันเราจะได้ยินผู้คนพูดถึงเรื่องโรคนี้กันบ่อยมากขึ้น
ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้
. “กรดไหลย้อน” คืออะไร?
โรคกรดไหลย้อน ในทางการแพทย์ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย
จัดเป็นโรคทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร
ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากเป็นโรคกรดไหลย้อนแล้วปล่อยเนิ่นนานจนเป็นเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล หรือหลอดอาหารตีบ กลืนลำบาก
หรือบางคนร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารเลยก็ได้ เพราะหลอดอาหารมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
. ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อ “กรดไหลย้อน”
โรคนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ ก็คือ
ภาวะน้ำหนักเกิน
พฤติกรรมการรับประทานและการนอน อย่างการรับประทานแล้วนอนทันที
การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อย่างส้ม มะนาวบ่อยๆ
การรับประทานช็อคโกแลต หรืออาหารที่มีส่วนผสมของมิ้นท์
การรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที
การทานอาหารมันๆ การทานเยอะเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร
นอกจากนั้น ความอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลม ถือว่าเป็นปัจจัยเสริมที่มีส่วนทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
ความเครียด สัมพันธ์กับเรื่องกรดไหลย้อนโดยตรง เพราะความเครียดส่งผลในด้านลบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
ในทางการแพทย์เรามักจะพบว่าคนที่มีความเครียด หลอดอาหารจะอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที
. อาการของ “กรดไหลย้อน”
โรคกรดไหลย้อนนั้นมีหลายอาการที่แสดงออกมาทั้งแบบเด่นชัดและแบบซ่อนเร้น อาการที่ชัดเจนของโรคนี้
คือ อาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยวบ่อยๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน หลายๆ อาการที่แตกต่างกันไป
เช่น เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือหูอักเสบ ซึ่งอาจทำให้แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของโรค
อาจต้องทำการตรวจโดยแพทย์จากหลายสาขา จนพบสาเหตุที่แท้จริง อาการสำคัญอีกประการ ได้แก่ การมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก อาการเหล่านี้พบได้บ่อยในคนตะวันตก
แต่ในคนไทยส่วนใหญ่อาการแสบร้อนที่บริเวณหน้าอกพบได้ไม่บ่อย และไม่รุนแรงเท่าชาวตะวันตก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอ
และมีน้ำเปรี้ยวขึ้นมาในปาก ในผู้ป่วยที่มีการขย้อนน้ำและอาหารขึ้นมาขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด จนเกิดอาการปอดอักเสบได้
. การรักษา “กรดไหลย้อน”
ถ้าปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคนี้ เช่น ยาเคลือบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร
และใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือ มีอาการแสบหน้าอกเป็นครั้งคราว อีกกลุ่มคือ ยาลดการหลั่งกรด
ยาในกลุ่มนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดของยา และระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร อาจได้ผลในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องร่วมด้วย ในปัจจุบันการรักษาด้วยยามักให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานกว่า การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารทั่วไป
และเมื่อหยุดยาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ การผ่าตัดรักษาในปัจจุบัน
จึงอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ลดอาการเจ็บจากการผ่าตัดได้ดีขึ้น และได้ผลการผ่าตัดที่ดี
. โรคกรดไหลย้อนสามารถดูแล บรรเทาอาการ และรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆให้เหมาะสม
เช่น การทานอาหารให้ตรงเวลา การลดน้ำหนักเพื่อลดความดันในช่องท้อง การงดสูบบุหรี่ งดรับประทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
งดอาหารมัน อาหารทอด อาหารรสจัด หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา
แต่หากมีอาการเจ็บป่วย ลักษณะอาการคล้ายกรดไหลย้อน ควรรีบมาพบแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน
เพื่อทำการรักษา เพราะ อาจจะมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารได้นะครับ แหล่งที่มาข้อมูล โรงพยาบาลพระรามเก้า
Tags: กรดไหลย้อน